เด็กก่อนวัยเรียนนั้นจะมีวิธีแสดงออกตามความรู้สึกที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งนั่นคือการแสดงออกที่เกิดจากความรู้สึกจริง ๆ ไม่ได้ผ่านการกรองหรือปรุงแต่งแต่อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ฉุนเฉียว การประท้วงด้วยวิธีต่าง ๆ หรือการติดการปฏิเสธด้วยคำว่า “ไม่” ตลอดเวลา รวมไปถึงการเพิกเฉยกับคำสั่ง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่มาตามการเจริญเติบโตของน้อง ๆ แต่บางครั้งบางพฤติกรรมอาจจะกลายมาเป็นปัญหาได้ วันนี้เลยอยากชวนคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองน้อง ๆ ตัวน้อยมาคุยกันถึงพฤติกรรมที่ไม่ควรมองข้าม แล้วเราจะมีวิธียุติพฤติกรรมเหล่านี้อย่างไร ไปติดตามกันเลยค่ะ
อาจจะเป็นปัญหาที่หลาย ๆ ครอบครัวพบเจอ แล้วมองว่าไม่ใช่ปัญหา ถึงแม้ว่าจะไม่ชอบใจ แต่จริง ๆ แล้วนั่นคือนิสัยที่จะสร้างปัญหาในอนาคตให้กับลูกน้อยที่น่ารักของเราให้กลายเป็นบุคคลที่ไม่มีมารยาทในอนาคตได้ค่ะ การขัดจังหวะในเหตุการณ์ต่าง ๆ มักจะเกิดจากความตื่นเต้นที่อยากจะแชร์กับเราในทันที หรือต้องการดึงความสนใจกลับมา เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราคืออธิบายให้เด็ก ๆ รับรู้ถึงวิธีที่ควรปฏิบัติ โดยเราอาจจะใช้เป็นข้อตกลงก่อน เช่น “เดี๋ยวคุณแม่จะต้องคุยโทรศัพท์กับคุณพ่อ แม่จะไม่สามารถคุยกับหนูได้ แล้วเราจะกลับมาคุยกันอีกครั้ง เมื่อคุณแม่วางสายเรียบร้อยแล้วนะคะ” อย่างนี้เป็นต้น หรืออาจจะใช้วิธีอื่น ๆ หากมีแขกมาที่บ้าน เช่น เป็นข้อตกลงให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่ชอบ อาจจะเป็นกิจกรรมพิเศษ ของเล่นพิเศษที่ไม่ได้เล่นบ่อย ๆ โดยไม่มารบกวนวงสนทนาหรือการทำงานของผู้ใหญ่ แต่เมื่อเสร็จจากธุระแล้ว ก็ต้องรีบคืนเวลาให้กับลูกน้อยตามข้อตกลงด้วยนะคะ
หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติของเด็กเล็กที่อาจจะมีการเล่นที่รุนแรง หรือใช้กำลังเมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ แต่จริง ๆ แล้วนั่นคือจุดกำเนิดนิสัยก้าวร้าวในอนาคต และสิ่งสำคัญที่สุดคือการจับสังเกตพฤติกรรมของความรุนแรงจากจุดเล็ก ๆ เพราะหากเราเห็นลูกน้อยต่อยเพื่อนเพื่อแย่งของเล่น ก็จะไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะห้ามและสอนว่านั่นคือสิ่งที่ผิด แต่หลายครั้งพฤติกรรมเหล่านี้จะเริ่มต้นจากความเกรี้ยวกราดเล็ก ๆ ที่เราอาจจะปล่อยผ่าน เช่น ไม่พอใจแล้วปาของ ดันมือเพื่อนหรือพี่น้องออกจากของเล่นหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อเขาเกิดอาการไม่พอใจ เพราะฉะนั้นเราต้องหมั่นสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เพื่อหยุดพฤติกรรมอันก่อให้เกิดนิสัยต้องห้ามให้ทันเวลา
หลายครั้งการเรียกหรือสั่งให้ลูกทำอะไรมันยากเย็นเหลือเกิน บางครั้งอาจต้องพูดแล้ว พูดอีก คนพูดไม่เหนื่อย คนฟังก็ไม่เบื่อ แต่นั่นเป็นอีกวิธีที่สร้างนิสัยไม่ดีให้กับลูกน้อย เขาจะเริ่มรู้จักการละเลย การไม่สนใจ และนิสัย “เดี๋ยวค่อยทำ” ซึ่งเป็นนิสัยที่แก้ยากมากในระยะยาว ซึ่งปัญหานี้ไม่ยาก แต่ต้องกำจัดแต่เนิ่น ๆ ด้วยวิธีง่าย ๆ คือ หากการส่งเสียงบอกของคุณไม่เพียงพอต่อการสั่งให้ลูกทำหรือไม่ทำอะไร ให้ใช้วิธีเดินไปใกล้ ๆ สัมผัสตัว มองหน้า สบตาแล้วค่อยบอกในสิ่งที่ต้องการให้เขาทำ แล้วรอการส่งสัญญาณตอบรับจากลูกน้อย จึงจะถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจนั้น ๆ
บางครั้งการได้ขัดคำสั่งพ่อแม่ในบางเรื่อง อาจะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ให้กับความรู้น้อย ๆ ของเด็กได้ อย่างเช่น หารีโมททีวีที่เราซ่อนเจอ แล้วเปิดมันในช่วงเวลาต้องห้าม แอบกินช็อกโกแลตเกินจำนวนที่กำหนดไว้ หรือเล่นโทรศัพท์เกินเวลา หลายครั้งที่ผู้ใหญ่อาจจะมองเป็นเรื่องน่ารักน่าเอ็นดู แต่นั่นคือการสะสมนิสัยแหกกฎตั้งแต่ในวัยเริ่มต้นของชีวิต ก็ไม่ต้องจินตนาการเลยว่า จะยากแค่ไหนหากต้องไปแก้เมื่อเขาเป็นวัยรุ่น เพราะฉะนั้นวิธีแก้คือการสื่อสารบ่อย ๆ ถึงความสำคัญของกฎในบ้านที่มีและความจำเป็นที่ทุกคนต้องยอมรับและปฏิบัติตาม รวมถึงสิ่งไหนที่เป็นกฎหรือเป็นคำสัญญาที่คุณพ่อคุณแม่ได้ให้ไว้กับลูก ก็ต้องให้ความสำคัญและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัวเช่นกัน
การโกหกถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรงหากเป็นนิสัยที่ติดตัวใครก็ตาม การโกหกของเด็กน้อยมักจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่อาจดูไม่ซีเรียส ซึ่งจะเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ เช่น ไม่มีการบ้าน เก็บของเล่นแล้ว ไม่ได้แอบกินขนม เป็นต้น ซึ่งการโกหกจากเรื่องเล็ก ๆ แบบนี้แหละ ที่จะพาไปสู่การพัฒนาในเรื่องใหญ่ ๆ ที่เราคาดไม่ถึง เพราะฉะนั้นหากเรื่องใดที่ลูกโกหก เราควรคุยถึงสาเหตุที่เขาโกหก และชี้แจ้งถึงเหตุและผลว่าการโกหกไม่ดีอย่างไร มีผลเสียที่จะตามมาอย่างไร เพียงแค่นี้คุณก็ได้แก้ปัญหาที่อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตได้แล้ว
NEve
ที่มาบทความ
6 Preschool Behavior Problems You Shouldn't Ignore https://www.parents.com/toddlers-preschoolers/development/behavioral/6-little-behavior-problems-you-shouldnt-ignore/